คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2460 โดยเป็นหนึ่งในสี่คณะที่กำเนิดขึ้นพร้อมกับการจัดตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อแรกเริ่มมีชื่อว่า "คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์" ทำหน้าที่สอนวิชาพื้นฐานด้านมนุษยศาสตร์และวิทยาศาสตร์ให้แก่คณะอื่นๆ ต่อมาได้รับภาระผลิตครูมัธยมสายอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในหลักสูตรประโยคครูมัธยม จนกระทั่งปี พ.ศ. 2477 คณะอักษรศาสตร์จึงเริ่มเปิดหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิต ในปัจจุบันคณะอักษรศาสตร์เปิดสอนหลักสูตรทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เดิมมีชื่อว่า คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เป็นหนึ่งในสี่คณะที่ได้มีการจัดตั้งขึ้น (อีกสามคณะได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ และคณะรัฐประศาสนศาสตร์) โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ซึ่งเป็นอธิการบดีกรมมหาวิทยาลัยในกระทรวงธรรมการพระองค์แรก ได้ทรงจัดตั้งเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2460 ในระยะแรก การเรียนการสอนในคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์จะเป็นการสอนรายวิชาให้กับนิสิตเตรียมแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์เป็นส่วนใหญ่ จนในปี พ.ศ. 2471 จึงได้เปิดสอนวิชาอักษรศาสตร์เป็นหลักสูตรแรก มีระยะเวลาการศึกษา 3 ปีโดยในสองปีแรกจะเป็นการเรียนวิชาอักษรศาสตร์และปีสุดท้ายจะเป็นการเรียนวิชาครู ซึ่งผู้สำเร็จตามหลักสูตรจะได้รับประกาศนียบัตรครูมัธยม ต่อมาในปี พ.ศ. 2473 จึงได้เปิดสอนวิชาวิทยาศาสตร์โดยมีระยะเวลาการศึกษาเท่ากับหลักสูตรวิชาอักษรศาสตร์
คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์มีการปรับปรุงด้านการบริหารและการเรียนการสอนหลายครั้ง ในปี พ.ศ. 2476 ได้มีพระราชกฤษฎีกาแยกคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ออกจากกันเป็น 2 คณะ และคณะอักษรศาสตร์ได้แบ่งการบริหารออกเป็นแผนกอักษรศาสตร์และแผนกฝึกหัดครู แต่ในปีเดียวกันนั้นคณะอักษรศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์ได้กลับรวมกันเป็นคณะเดียวกันอีก แต่มีการแบ่งการบริหารใหม่ออกเป็น 9 แผนก ได้แก่ แผนกสารบรรณและหอสมุด แผนกเคมี แผนกฟิสิกส์ แผนกชีววิทยา แผนกคณิตศาสตร์ แผนกภาษาไทยและโบราณตะวันออก แผนกภาษาปัจจุบัน แผนกภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ และแผนกฝึกครู และในปี พ.ศ. 2477 ได้เปิดสอนหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิตในระดับปริญญาตรี และเปิดสอนในขั้นหลักสูตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิตในปี พ.ศ. 2485
ในปี พ.ศ. 2486 ได้มีการแยกคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ออกเป็นสองคณะอีกครั้งหนึ่ง แต่ยังมีการบริหารรวมกันอยู่ และได้เปิดสอนหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิตในปี พ.ศ. 2491 ขณะเดียวกันก็ได้เปลี่ยนชื่อคณะเป็น คณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์ และแบ่งการบริหารใหม่ออกเป็น 4 แผนกวิชา ได้แก่ แผนกวิชาภาษาไทยและโบราณตะวันออก แผนกวิชาภาษาต่างประเทศ แผนกวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ และแผนกวิชาครุศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์ยังคงมีการบริหารงานรวมกับคณะวิทยาศาสตร์จนถึงปี พ.ศ. 2493 จึงได้แยกการบริหารออกเป็นอิสระจากกัน และมีการก่อตั้งแผนกใหม่คือ แผนกวิชาบรรณารักษศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2498 กระทั่งปี พ.ศ. 2500 แผนกวิชาครุศาสตร์ได้รับการยกฐานะเป็นคณะครุศาสตร์และแยกตัวออกไปทำให้คณะได้กลับมาใช้ชื่อคณะอักษรศาสตร์อีกครั้ง และมีแบ่งแผนกวิชาใหม่ออกเป็น 6 แผนกวิชา ได้แก่ แผนกวิชาภาษาไทย แผนกวิชาภาษาตะวันออก แผนกวิชาภาษาอังกฤษ แผนกวิชาภาษาตะวันตก แผนกวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ และแผนกวิชาบรรณารักษศาสตร์ ตลอดจนก่อตั้งแผนกวิชาใหม่ๆตามเวลา ได้แก่ แผนกวิชาปรัชญาในปี พ.ศ. 2514 แผนกวิชาศิลปการละครในปี พ.ศ. 2515 และแยกแผนกวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ออกจากกัน
อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ หรือที่เรียกติดปากว่า "เทวาลัย" เป็นอาคารที่มีเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมไทย ก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2457 ให้เป็นตึกบัญชาการของโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ออกแบบโดย ดร. คาร์ล โดริง (Dr. Karl Dohring) นายช่างชาวเยอรมัน ซึ่งรับราชการในกระทรวงมหาดไทย และนายเอดเวิร์ด ฮีลีย์ (Mr. Edward Healey) นายช่างชาวอังกฤษ ซึ่งรับราชการในกระทรวงธรรมการ โดยนำศิลปะไทยโบราณที่สุโขทัยและสวรรคโลกมาคิดปรับปรุงขึ้นเป็นแบบของอาคาร ในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมายังโรงเรียนข้าราชการพลเรือนที่กำลังก่อสร้างเพื่อทรงวางศิลาพระฤกษ์ หลังจากนั้นในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 ได้มีประกาศพระบรมราชโองการสถาปนา "โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" ขึ้นเป็น "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" อาคารดังกล่าวใช้เป็นสำนักงานบริหารและเป็นอาคารเรียนหลังแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกว่า "ตึกบัญชาการ" ต่อมาอาคารดังกล่าวก็เปลี่ยนชื่อเป็น "ตึกอักษรศาสตร์ 1" และ "อาคารมหาจุฬาลงกรณ์" โดยลำดับ ตึกคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อ พ.ศ. 2530
อาคารมหาวชิราวุธ เดิมมีชื่อว่า "ตึกอักษรศาสตร์ 2" เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเลียนแบบสถาปัตยกรรมอาคารมหาจุฬาลงกรณ์ โดยมีทางเชื่อมกับอาคารมหาจุฬาลงกรณ์ทำให้มีลักษณะเป็นรูปสมมาตร ตัวอาคารมีทั้งหมด 4 ชั้น โดยเพิ่มชั้นใต้ดินและชั้นใต้หลังคา ปัจจุบันใช้เป็นอาคารสำนักคณบดี แผนกธุรการต่าง ๆ ของคณะอักษรศาสตร์ และศูนย์สารนิเทศมนุษยศาสตร์ (ห้องสมุดคณะอักษรศาสตร์)
อาคารบรมราชกุมารี เป็นอาคารเรียนรวมสายมนุษยศาสตร์ 15 ชั้น ถือเป็นอาคารเรียนหลักของคณะอักษรศาสตร์ นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งสำนักงานภาควิชา และหลักสูตรต่าง ๆ ของคณะอักษรศาสตร์ (ชั้น 7-13) และคณะศิลปกรรมศาสตร์ (ชั้น 14) ในการจัดสร้างอาคารบรมราชกุมารี ได้มีการทุบ "ตึกอักษรศาสตร์ 3" ซึ่งเป็นอาคารสูงเพียง 2 ชั้นตั้งอยู่ลานหน้าอาคารบรมราชกุมารีในปัจจุบัน เนื่องจากมีความทรุดโทรมและกีดขวางเส้นทางเข้าเขตก่อสร้างอาคารบรมราชกุมารี นิสิตอักษรศาสตร์จึงผูกพันเสมือนอาคารบรมราชกุมารีเป็นตึกอักษรศาสตร์ 3
หากไม่นับอาคารบรมราชกุมารีซึ่งบริหารโดยส่วนกลางของมหาวิทยาลัย อาคารมหาจักรีสิรินธร ถือเป็นอาคารลำดับที่ 5 ของคณะอักษรศาสตร์ ซึ่งสร้างแทนที่ "ตึกอักษรศาสตร์ 4" ซึ่งมีความสูงเพียง 3 ชั้น ปัจจุบันใช้เป็นอาคารเรียนหลังที่สองของคณะอักษรศาสตร์ มีความสูง 9 ชั้น โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2553 ภายในอาคารดังกล่าวประกอบด้วย ห้องบรรยาย ห้องเรียน ศูนย์สารนิเทศมนุษยศาสตร์ (สรรพศาสตร์สโมสร) ส่วนการวิจัย และศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล โรงละครแบล็กบอกซ์ของภาควิชาศิลปการละคร ซึ่งตั้งชื่อตามผู้ก่อตั้งภาควิชา และห้องกิจกรรมนิสิต[ต้องการอ้างอิง]
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/คณะอักษรศาสตร์_จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย